The Future of Thailand “Siam Business Forum 2nd” Dr.Supachai Panitchpakdi
Former Director-General, World Trade Organization (ETO)
Former Secretary-General, UNCTAD
Former Deputy Prime Minister & Minister of Commerce
29 August 2018 / 13.30-15.00 p.m.
Auditorium, Building 19 Floor 19
บัณฑิตวิทยาลัย บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมรับฟังการบรรยาย เรื่อง “The Future of Thailand” โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,รมต.ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก(WTO) และ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) เนื่องในกิจกรรม “Siam Business Forum ครั้งที่ 2” วันพุธที่ 29 สิงหาคม เวลา 13:30-15:00 น. ณ ห้องAuditorium (ชั้น19 อาคาร19) มหาวิทยาลัยสยาม
“Future of Thailand” โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
ท่าน ดร.ศุภชัย เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงหัวข้อในวันนี้ (อนาคตของประเทศไทย: Future of Thailand) ว่าเป็นหัวข้อที่เปิดโอกาสให้ผู้พูดได้พูดในสิ่งต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางตามที่ตัวผู้พูดต้องการ ดังนั้น การพูดในวันนี้จะเป็นสิ่งที่ตัวท่านเห็นว่าสำคัญและเกี่ยวข้องกับงานของท่าน ไม่ว่าจะเป็นที่ องค์การสหประชาชาติ หรือ องค์การการค้าโลก ซึ่งท่านจะพยายามสะท้อนออกมาให้พวกเราเห็นถึงอนาคตในวันข้างหน้าของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การพูดในวันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับมุมมองของภาครัฐ
การคาดการณ์อนาคต หรือการทำนายว่ามันจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรต้องมีภาพคร่าวๆ ว่า มันจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายและทิศทางที่จะร่วมกันก้าวไป แล้วที่จริงไทยเรามีอนาคตหรือไม่ คำถามนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมาขบคิดกัน เราอาจเริ่มพิจารณาจากสิ่งที่นักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติมองอนาคตของเรา หากสังเกตจากโพลต่างๆ จำนวนไม่น้อยก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความเชื่อมั่นที่เป็นบวกต่ออนาคตของประเทศไทย ท่าน ดร.ศุภชัยเองก็เคยพบในหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกันว่าไทยเรามักจะถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่น่าลงทุนที่สุด ภาครัฐก็เช่นกัน มักจะประกาศหรือรายงานสภาวะเศรษฐกิจไปในทิศทางที่เป็นบวก ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ตรงกับที่เป็นจริงนัก การรายงานแต่เฉพาะสิ่งที่ผู้คนอยากฟังอาจทำเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือเพื่อความสบายใจของประชาชน อาจเป็นเจตนาดี แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง และขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ร้ายที่กำลังจะมาถึงได้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรากฏขึ้นมักจะฟ้องถึงการขัดกันระหว่างสิ่งที่ออกสื่อกับข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตัวเลขจาก การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (The United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยในในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมากจากช่วงรุ่งเรืองในอดีต เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า เราสูญเสียความแข็งแกร่งในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติไป เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญมากในการเสริมสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศ โดยปกติแล้วประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เราควรจะเติบโตปีละ 5% และควรจะเติบโตในระดับนี้อย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อผู้คนจะได้มีงานทำอย่างเพียงพอ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม จะต้องทำให้ทั่วถึงกันทุกภาคส่วน และเน้นไปที่กลุ่มคนในระดับล่างโดยให้มีอัตราเร่งที่เร็วเพียงพอที่จะตามกลุ่มอื่นๆ ได้ทัน สำหรับประเทศไทย หากจะเติบโตปีละ 5% เราควรจะต้องมีการลงทุนประมาณ 28-30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แต่ในปัจจุบันเรามีการลงทุนประมาณยี่สิบเปอร์เซ็นต์ต้นๆ เท่านั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญสำหรับอนาคตประเทศไทยก็คือ การกระจายรายได้อย่างทั่วถึง การกระจายรายได้ของเรายังมีปัญหา ผู้คนที่มักจะถูกละเลยก็คือผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งมักจะไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อไม่นานนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการส่งออกจะเติบโตขึ้นมากและมีทิศทางที่สดใส เม็ดเงินที่ได้มาก็ไม่ได้กระจายไปถึงมือผู้มีรายได้น้อยเท่าไรนัก เราคงจะมีอนาคตที่ดีไม่ได้ หากยังมีช่องว่างระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจน และช่องว่างนั้นนับวันจะยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การลงทุนที่กล่าวแล้วข้างต้น จะต้องถูกกำหนดให้อยู่ในโครงการที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และโอกาส โดยเฉพาะให้แก่ผู้คนในระดับล่าง หากเราใช้เกณฑ์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : UNSDG) ที่ว่าประเทศควรจะเน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในกลุ่ม 40% ด้านล่าง ให้พวกเขาได้มีรายได้เติบโตอย่างน้อย 2 เท่าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น หากไทยเราจะเติบโตปีละ 5% เราก็ควรมีอัตราการเติบโตของรายได้ของผู้ที่มีรายได้น้อยในกลุ่ม 40% ล่าง ประมาณ 10%
ความเข้าใจในเรื่องการแบ่งแยกกันในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นทางการ กับเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (Segmentation: formal and informal sectors) ก็มีผลต่ออนาคตของประเทศไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการค่อนข้างมาก เศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการจะคอยเกื้อหนุนเศรษฐกิจที่เป็นแบบทางการ โดยเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการจะคอยสนับสนุนแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกให้แก่เศรษฐกิจแบบทางการ แต่นโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐมักจะละเลยเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ จึงทำให้การดำเนินนโยบายจำนวนมากไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ เราจึงควรมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจทั้ง 2 ขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่อง การแบ่งแยกกันในระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน ความร่วมมือกันของผู้คนในชุมชน การส่งเสริมให้มีการแข่งขัน และการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีความจำเป็น
ในตอนท้าย ท่าน ดร.ศุภชัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษา ท่านเห็นว่า เราสมควรที่จะมีแผนระยะยาวเอาไว้เสมอ แม้ว่าเราไม่อาจรู้เลยว่าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เราก็ควรจะมีแผนเพื่อเตรียมรับมือกับมัน และการศึกษาถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะคุณภาพของคนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ เราควรส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้ให้มาก การศึกษาจะต้องครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้โอกาสแก่ทุกๆ คน อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อผู้คนจะได้มีโอกาสเลือก ดังที่ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้กล่าวไว้ว่า การมีอิสระที่จะเลือก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง
แปล-เรียบเรียง โดย ผศ.ดร.รัฐวุฒิ รู้แทนคุณ และ ดร.พิจิตร เอี่ยมโสภณา
โพสที่เกี่ยวข้อง:
- Siam Business Forum 5 ” Thailand’s Economic Perspective in An Uncertain World” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- Siam Business Forum 4 “Design Thinking” เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
- Siam Business Forum 3 “The Future of Education” คุณกระทิง พูลผล
- Siam Business Forum 1 เศรษฐกิจไทยยุคดิจิตอล “ทางเลือก ทางรอด และโอกาส” ปริญญ์ พานิชภักดิ์